อยู่ดีๆขิงดองก็อร่อยขึ้นมา: การตระหนักถึงเฟมินิสต์จากการแต่งตัว”โป๊”

12 Powerful Women of the Mindfulness Movement: 2020 - Mindful

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฉันได้บอกเลิกแฟนที่คุยกันมาเกือบสองปีและคบกันมาปีกว่าๆด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเรียนอยู่ไกลและฉันไม่อยากจะรอแล้ว และอีกหนึ่งเหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้ของฉันคือ “ฉันอยากจะแต่งตัวให้โป๊ขึ้นอีก”

ช่วงที่คบกันใหม่ๆ ฉันเคยนึกภาพตัวเองตอนต้องเลิกกับแฟนคนนี้ หากมันเป็นอย่างที่ฉันคิดไว้พฤศจิกายนสำหรับฉันจะต้องกลายเป็นเดือนนรกอย่างถึงที่สุด ฉันต้องร้องไห้ฟูมฟายเป็นอาทิตย์ๆ อาจจะดื่มจนเมาเกือบทุกวันหรือไม่ก็ต้องพึ่งยานอนหลับเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วฉันร้องไห้แค่ครึ่งวันและแค่รู้สึกว่าทานอะไรไม่ค่อยลงเท่านั้น อาการนอนไม่หลับก็ยังคงตัวเหมือนเดิม ไม่ได้ต้องพึ่งยานอนหลับอะไร เรื่องที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือฉันไม่รู้สึกตกใจกับอาการเฉยๆของตัวเองเลยแม้แต่น้อย เพื่อนๆของฉันบอกว่าอาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ฉันก็อยู่คนเดียวแบบนี้มาตลอดระยะเวลาที่คบกัน การได้เจอกันปีละไม่กี่ครั้งอาจทำให้ฉันทำใจง่ายกว่าปกติ แม้จะเห็นด้วยแต่ลึกๆแล้วใจฉันกลับนึกไปถึงความ toxic ของความสัมพันธ์ครั้งนี้ที่มีมาตั้งแต่ต้นแต่ฉันเลือกที่จะมองข้ามไปเสียมากกว่า

ในฐานะของคนที่ค่อนข้างจะหวง privacy และซีเรียสกับเรื่องการยอมรับและให้เกียรติกันและกันในความสัมพันธ์ ฉันจึงทนไม่ได้กับการโดนบอกให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนเพื่อใครโดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันและอดีตแฟนของฉันมีปากเสียงกันมาตลอด แม้ฉันจะแต่งตัวแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร(แม้กระทั่งก่อนที่ฉันจะเข้าไปจีบเขา) แต่เมื่อคบกันเขากลับบอกให้ฉันแต่งตัวให้มิดชิดขึ้นพร้อมให้เหตุผลว่าเพราะเขาเพิ่งเริ่มรักฉันจึงเกิดความรู้สึกหวงขึ้นมา เขาไม่อยากให้ใครมามองเนื้อตัวของแฟนเขา เขาอยากเป็นคนเดียวที่มองได้ และการแต่งตัว “โป๊” ของฉันในบางโอกาสมันทำให้เขาไม่สบายใจ เราทะเลาะกันจนฉันรู้สึกแย่กับตัวเองไปอยู่พักใหญ่ ฉันเริ่มไม่แต่งตัวไม่แต่งหน้า เริ่มไม่ดูแลตัวเองแบบปกติอย่างที่เคยทำ ฉันตื่นมาเห็นหน้าตัวเองและร้องไห้ทุกคืนจนรู้สึกได้ว่าสภาพจิตใจเริ่มจะไม่ไหวแล้ว วันหนึ่งฉันทะเลาะกับอดีตแฟนเรื่องนี้อีกจึงกลั้นใจยื่นคำขาดไปว่า “it’s my body, my choice ถ้ารับไม่ได้ก็เลิกกันไปเลย” แน่นอนว่าเขาไม่เลิกและสัญญาว่าจะพยายามไม่ยุ่งกับการแต่งตัวของฉันอีก ถึงอย่างนั้น สภาพจิตใจที่แย่มากๆในตอนนั้นก็ไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว เพื่อนของฉันเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกตินี้และถามฉันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ช่วงนั้นฉันร้องไห้ง่ายในระดับที่แค่เพื่อนคนหนึ่งถามว่า “มึงเป็นอะไรรึเปล่า ช่วงนี้ไม่เหมือนมึงเลยนะ” ฉันก็ร้องไห้โฮออกมาทันที

ร่วมสองเดือนที่ฉันต้องทนอยู่กับสภาพจิตใจแย่ๆเพียงเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง ฉันเริ่มนึกโกรธค่านิยมของประเทศนี้ขึ้นมาเพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันช่วยหล่อหลอมเขาให้มีความคิดแบบนี้ ฉันเริ่มสงสัยว่าทำไมการเป็นแฟนกันหรือแม้แต่การแต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้วในประเทศไทยทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขามีสิทธิ์เหนือร่างกายของคนข้างๆ เพื่อนของฉันหลายคนก็โดนแฟนหนุ่มห้ามไม่ให้ใส่กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นๆด้วยเหตุผลที่ว่า “มีแฟนแล้ว ไม่ต้องแต่งไปให้ใครมองแล้ว” เรื่องของเรื่องก็คือผู้หญิงเกือบจะ 100% นั้นแต่งตัวเพื่อความภาคภูมิใจในเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกตอนเดินผ่านร้านค้าต่างๆต่างหาก และถึงจะแต่งไปให้ผู้ชายหรือผู้หญิงคนอื่นมอง ฉันก็มองว่ามันเป็นสิทธิ์ของเพื่อนของฉันที่จะทำตราบเท่าที่เพื่อนของฉันไม่ได้แต่งตัวแบบนี้เพื่อไปนอกใจแฟนของเธอ

หลังจากเรียกตัวเองกลับมาได้ในตอนนั้น ฉันก็เลิกสนใจว่าแฟนของฉันในตอนนั้นจะรู้สึกยังไงกับการแต่งตัวของฉัน ฉันพยายามเรียกความมั่นใจของตัวเองกลับมาและแต่งตัวอีกครั้ง จนในที่สุดเราก็ทะเลาะเรื่องเสื้อผ้าของฉันครั้งใหญ่เป็นรอบที่สองเพราะฉัน no bra ออกจากบ้านไปซื้อ KFC ในตอนนั้นฉันเริ่มไม่แน่ใจว่าสรุปแล้วหัวนมนี้มันเป็นของฉันหรือของใครกันแน่ ทำไมผู้หญิงจะหัวนมโผล่ไม่ได้ในเมื่อเราสามารถเห็นผู้ชายใส่เสื้อขาวบางๆพร้อมหัวนมสองจุดบนตัวได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีใครมองว่ามันแปลกหรืออุจาดตา ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่หัวนมของฉัน(หรือของผู้หญิงคนอื่น)กลายมาเป็นปัญหาสาธารณะ ในตอนนั้นฉันถึงได้ตระหนักรู้ว่าทำไมเฟมินิสต์ถึงจำเป็นนัก เฟมินิสต์ไม่ได้เรียกร้องสิทธิเหนือกว่าผู้ชาย เฟมินิสต์แค่ต้องการความเท่าเทียมในทุกๆเพศ อย่างน้อยหัวนมของฉันต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกับหัวนมของผู้ชายที่ฉันเจอในเซเว่นเมื่อวาน ดังนั้นฉันจึงตั้งเงื่อนไขไว้อย่างหนึ่งในการจะคบกับใครสักคนคือถ้าเขาจะไม่เลิกกับฉัน(หลังจากที่ฉันรู้ว่าเขาไม่เอาเฟมินิสต์) เขาก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นเฟมินิสต์กับฉันเท่านั้น ฉันจะไม่ยอมให้ค่านิยมหรือความ toxic masculinity มาทำร้ายทั้งเขาและฉันอีกต่อไป

ฉันเริ่มศึกษาแนวคิดเฟมินิสต์มานับตั้งแต่นั้น สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าการเป็นเฟมินิสต์ของฉันเริ่มขึ้นเพียงเพราะฉันต้องการแต่งตัวตามที่ฉันอยากแต่ง แม้จะเลิกกับแฟนคนก่อนไปแล้วและไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้อีก แต่ทุกวันนี้ฉันยังคงได้ยินได้เห็นเรื่องการแต่งตัวของ “ผู้หญิง” ที่เป็นปัญหาของ “ผู้ชายส่วนใหญ่” อยู่มากไม่ว่าจะในชีวิตจริงที่คนรอบตัวมาปรึกษาหรือในช่องทางออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสังคมชายเป็นใหญ่มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมกรอบการแต่งตัวของผู้หญิงไทย การที่มีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน เรียบร้อย ต้องรักษาความบริสุทธิ์(หรือที่เรียกกันว่าพรรหมจรรย์) ไม่แรดไม่ร่าน ล้วนมีส่วนในการสร้างกรอบการแต่งตัวของผู้หญิงทั้งสิ้น เนื่องจากการเป็นหรือไม่เป็นผู้หญิงแรดนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับความยาวของเครื่องนุ่งห่มไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากให้เลือกชี้ว่าใครดูเรียบร้อยและใครดู “แรง” ระหว่างผู้หญิงสองคนที่คนหนึ่งสวมเดรสแขนยาวกระโปรงยาว อีกคนสวมเดรสสั้นรัดรูป ผู้คนมักจะเลือกให้ผู้หญิงสวมเดรสสั้นรัดรูปเป็นผู้หญิงที่ดู “แรง” น้อยคนนักที่จะคิดได้ว่าเครื่องนุ่งห่มไม่สามารถตัดสินนิสัยใจคอของใครได้ และการเป็นคน “แรง” ก็ไม่ใช่เรื่องผิดตราบเท่าที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร นอกจากนี้ฉันมักได้เห็นการโต้เถียงของผู้ชายใน facebook ว่าผู้หญิงควรแต่งตัวมิดชิดจะได้ไม่โดนข่มขืนหรือโดนล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางวาจาและทางการกระทำ ปัญหาของแนวคิดของผู้ชายพวกนี้คือการที่พวกเขาคิดว่าเขามีสิทธิ์จะไปล่วงเกินผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊หรือไม่มิดชิดเพราะถือว่าผู้หญิงแต่งมาให้คนอื่นมองอยู่แล้ว จะโดนแซวหรือโดนแตะเนื้อต้องตัวก็ควรจะยอมรับให้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ว่าผู้หญิง(หรือเพศไหนๆ)จะแต่งตัวเปิดเผยเนื้อหนังแค่ไหน ร่างกายนั้นก็เป็นสิทธิ์ของผู้หญิงคนนั้นๆโดยชอบธรรม ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปล่วงเกินใดๆทั้งสิ้น ฉันเป็นคนหนึ่งที่มักจะโดนลวนลามทางคำพูดบ่อยๆ ไม่ว่าจะแต่งตัว “โป๊” หรือไม่ วันหนึ่งฉันใส่ชุดนอนเดินไปซื้อเครปและโดนวินมอเตอร์ไซค์ตะโกนแซวเสียงดังจนป้าคนขายเครปต้องเรียกให้ลูกชายมาพาฉันเดินกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย ระหว่างทางเดินกลับบ้านฉันก็ได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่เรื่องบ้าๆนี้จะหมดไปจากสังคมสักที

ตอนเด็กๆ ฉันเคยเป็นคนที่เกลียดของดองโดยเฉพาะขิงดอง ความเผ็ดปร่าและรสชาติปะแล่มๆของมันทำให้ฉันต้องเขี่ยเป็ดย่าง MK ส่วนที่อยู่ติดกับขิงดองทิ้งเสมอ ฉันไม่เคยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเฟมินิสต์จนวันที่สภาพจิตใจของฉันเกือบจะพังเพราะสังคมชายเป็นใหญ่ที่แทรกซึมอยู่ทุกอณูของสังคมไทย เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ฉันเลิกกับแฟนได้ไม่นาน ฉันได้ลองทำอะไรใหม่ๆมากมาย ลองแต่งตัวในแบบที่ฉันอยากแต่งมานานแต่ไม่ทำเพราะขี้เกียจจะทะเลาะกับแฟน ได้ลองไม่ใส่บราออกไปในที่ต่างๆมากขึ้น ความรู้สึกเหมือนได้ปลดล็อกบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในใจของฉัน ในวันหนึ่งฉันคิดว่าฉันอาจจะลองแต่งตัวในแบบที่มัน “เรียบร้อย” ดูบ้าง หรือแม้กระทั่งอาจจะลองทานขิงดองดู ซึ่งไม่นานมานี้ฉันตัดสินใจ no bra ไปกินราเมงร้านโปรด โดยปกติแล้วฉันจะต้องเขี่ยเอาขิงดองและต้นหอมออกจากชามไปก่อนถึงจะลงมือกินได้ แต่ด้วยความหิว ฉันจึงคีบเส้นราเมงกินโดยไม่สนใจเลยว่ามีขิงดองติดขึ้นมาด้วย ความไม่อร่อยของขิงดองที่ฉันเกลียดกลับชูรสชาติของราเมงให้หอมมากขึ้นไปอีกจนฉันต้องเอ่ยปากขอขิงดองจากพนักงานเพิ่ม ในตอนนั้นฉันภูมิใจกับตัวเองจนต้องบันทึกไว้ในโน้ตเลยว่าในที่สุด วันที่ 8 ธันวาคม ฉันก็สามารถกินขิงดองได้แล้ว

แม้จะเป็นเรื่องตลกสำหรับใครหลายๆคนแต่สำหรับฉันมันเป็นความรู้สึกว่าฉันได้ก้าวข้ามอคติบางอย่างในใจและมันทำให้ฉันโล่งพอๆกับตอนที่ฉันกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งในตอนที่เกือบจะพังทลายไป วันต่อมาฉันได้ลองกินขิงดองที่ฉันคิดมาตลอดว่าเป็นสิ่งสุดท้ายในจานเป็ด MK ที่ฉันจะยอมคีบเข้าปากอีกครั้ง ฉันคิดว่าแนวคิดเฟมินิสต์สำหรับหลายๆคนก็เหมือนขิงดองสำหรับฉัน การจะยอมเคี้ยวและกลืนบางสิ่งที่เราตั้งธงไว้แล้วว่าไม่มีวันกินลงไปแน่ๆนั้นมันยาก แต่หากลองเปิดใจชิมสักครั้งเหมือนฉันในวันนั้นอาจทำให้รู้ได้ว่าความเผ็ดปร่าและรสชาติปะแล่มๆที่ฉันเขี่ยทิ้งเสมอในวันวานกลับทำให้มื้ออาหารในวันนี้อร่อยขึ้นกว่าปกติ

Leave a comment